03 August 2011

วิวัฒนาการกฎหมายลักษณะผัวเมียของไทยในสมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน

1.           ขั้นตอนวิวัฒนาการของกฎหมายลักษณะผัวเมียและมรดกตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

            กฎหมาย ซึ่งถือเป็นแม่บทสำคัญเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ก็คือคัมภีร์พระธรรมศาสตร์อันเป็นที่มาจากประเทศอินเดียตามความเชื่อศาสนาฮินดู โดยไทยได้รับผ่านทางมอญซึ่งนับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกับไทย  ศาสตราจารย์ ร. แลงกาต์ เชื่อว่าคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ได้เข้ามาสู่ดินแดนของไทยตั้งแต่ครั้งสุโขไทย ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 38 หรือศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร [1]
               นอกจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทที่ใช้ในการปกครองแผ่นดินแล้ว กฎหมายในสมัยโบราณยังจำแนกกฎเกณฑ์เป็นพระอัยการเฉพาะเรื่อง ซึ่งความหมายของคำว่า  “อัยการ” แตกต่างจากความหมายของอัยการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในกฎหมายไทยเดิมคำว่า “พระอัยการ” หรือ “พระไอยการ” หมายถึง กฎหมายพื้นฐานของแผ่นดิน(Basic law) ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม และหากมีปัญหาเกี่ยวกับพระอัยการ พระมหากษัตริย์ซึ่งมีหน้าที่ให้ความยุติธรรมจะต้องมีพระราชวินิจฉัย พระราชวินิจฉัยในแต่ละคดีเรียกว่า “พระราชบัญญัติ” พระราชบัญญัติแต่ละมาตราจะอ้างมูลคดีเดิมเสมอ [2]
                          กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในระยะแรกของกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ก็คือกฎหมายที่ใช้อยู่ครั้งกรุงศรีอยุยาโดยอาศัยความจำและการคัดลอกกันมาตามเอกสารที่หลงเหลือจากการถูกทำลายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีจำนวนน้อยมากตามพระราชกำหนดใหม่ข้อ  28  กล่าวว่า บทกฎหมายเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยาได้สูญหายไปมากในบทกฎหมายเก้าหรือสิบส่วนจะมีคงเหลือ
อยู่เพียงส่วนเดียวเท่านั้น ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร. ร. แลงกาต์  ได้กล่าวไว้ใน Journal of the Siam Society  ว่า อนึ่ง เราทราบจากกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งบัญญัติขึ้นในรัชกาลที่ 1 เองว่า เอกสารต้นฉบับต่างๆ ที่เคยมีอยู่ในหอหลวงครั้งกรุงเก่านั้น ได้คงเหลืออยู่สืบมาเพียงจำนวนเล็กน้อย กล่าวคือจาก 9 หรือ 10 ส่วนมีเหลือแต่เพียง 1 ส่วนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้บทกฎหมายจำนวนมากที่ใช้บังคับอยู่ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาจึงมิได้ปรากฏอยู่ในการชำระกฎหมายครั้งใหม่นี้ และยังอาจถือว่าได้ถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิงแล้วด้วย แม้ว่าเนื้อหาของบทกฎหมายนั้นอาจจะมีการนำมาบัญญัติขึ้นใหม่ในการชำระกฎหมายครั้งนี้อีกก็ตาม[3]และเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องเล่านี้ พระบาท
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงทำการวินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ โดยอาศัยมูลอำนาจอธิปไตยของพระองค์เองบ้าง อาศัยหลักฐานที่ได้จากการสืบสวนฟังคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บ้าง เช่น ผู้ที่ได้เคยอยู่ในคณะตุลาการศาลแต่ครั้งเดิม ๆ [4]  จนกระทั่งเกิดคดีขึ้นคดีหนึ่ง  และมีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา คดีที่เกิดขึ้นนี้แม้จะเป็นคดีฟ้องหย่าของชาวบ้านธรรมดา แต่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์กฎหมายก็คือ  ผลจากคดีนี้เป็นต้นเหตุให้นำมาซึ่งการชำระสะสางกฎหมายในสมัยนั้น คดีว่านี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2347  โดยเป็นคดีที่อำแดงป้อม ฟ้องหย่านายบุญศรีช่างเหล็กหลวง ทั้ง ๆ ที่ตนได้ทำชู้กับนายราชาอรรถและศาลได้พิพากษาให้หย่าได้ตามที่อำแดงป้อมฟ้อง   โดยอาศัยการพิจารณาคดีตามบทกฎหมายที่มีความว่า ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชายหย่าได้เมื่อผลของคดีเป็นเช่นนี้ นายบุญศรีจึงได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงเห็นด้วยกับฎีกาว่าคำพิพากษาของศาลนั้นขัดต่อหลักความยุติธรรม ทรงสงสัยว่าการพิจารณาพิพากษาจะถูกต้องตรงตามตัวบทกฎหมายหรือไม่ จึงมีพระบรมราชโองการให้เทียบกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ คือฉบับที่ศาลใช้กับฉบับที่หอหลวงและที่ห้องเครื่องแต่ปรากฏข้อความที่ตรงกันเมื่อเป็นดังนี้ จึงทรงมีพระราชดำริว่ากฎหมายนั้นไม่เหมาะสม อาจมีความคลาดเคลื่อนจากการคัดลอกสมควรที่จะจัดให้มีการชำระสะสางกฎหมายใหม่ เหมือนการสังคายนาพระไตรปิฎก ดังพระราชปรารภที่ว่าให้กรรมการชำระพระราชกำหนดบทพระอายการอันมีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมศาสตรไปให้ถูกถ้วนตามบาฬีและเนื้อความมิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกันได้ จัดเปนหมวดเปนเหล่าเข้าไว้ แล้วทรง อุสาหทรงชำระดังแปลงซึ่งบทอันวิประหลาดนั้นให้ชอบโดยยุติธรรมไว้[5]
                          หลังจากชำระสะสางเสร็จแล้ว  อาลักษณ์ได้เขียนด้วยหมึกลงบนสมุดข่อยรวม 6  ชุด  ชุดละ 41 เล่ม เล่ม  3  ชุดแรก จะประทับตรา  3 ดวง บนปกแต่ละเล่ม คือ ตราคชสีห์ ราชสีห์  และตราบัวแก้ว   ตราประทับดังกล่าวเป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก  สมุหกลาโหม และเจ้าพระยาคลัง ตามลำดับ  กฎหมายสามชุดนี้ ถือเป็นฉบับหลวงโดยแยกเก็บไว้ที่หอหลวง ศาลหลวง และห้องเครื่องแห่งละ 1 ชุด ส่วนอีก 3  ชุด ที่มิได้ประทับตรา เรียกว่า ฉบับรองทรง ใช้สำหรับคัดลอกและนำออกใช้เวลาพิจารณาคดี [6] ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ "กฎหมายตราสามดวง"
นั้นเอง
            กฎหมายตราสามดวง มีลักษณะเป็นการรวบรวมกฎหมายเดิมๆ ขึ้นเป็นเรื่องๆ ตามรูปเดิมแต่ละเรื่องมีข้อความไม่ติดต่อกัน เรื่องหนึ่งๆ ถือเป็นกฎหมายฉบับหนึ่ง ในคำปรารภของแต่ละเรื่องกล่าวถึงเหตุแห่งการออกกฎหมายเรื่องนั้น และคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินที่ให้ตรากฎหมายนั้นขึ้นด้วย ทั้งนี้ ตามที่ปรากฏในฉบับพิมพ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มี ๒๘ เรื่อง [7]












[1] ประวัติศาสตร์ กฎหมายไทย ศาสตราจารย์แสวง  บุญเฉลิมวิภาส สำนักพิมพ์วิญญูชน 2552 หน้า 84
[2]  ประวัติศาสตร์ กฎหมายไทย ศาสตราจารย์แสวง  บุญเฉลิมวิภาส, อ้างแล้ว. หน้า 94
[3]  R. Lingat, “Note sur la ŕevision des lois siamoises en 1805, ” in Journal of the Siam Society, Vol.xxiii
(1929), Part 1, p.23.
[4]  ศาสตราจารย์ ดร. ร. แลงกาต์ ,ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เล่ม 1,มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ ฯ พ.ศ.2526,หน้า 19
[5] ประวัติศาสตร์ กฎหมายไทย ศาสตราจารย์แสวง  บุญเฉลิมวิภาส, อ้างแล้ว. หน้า 117,118,120
[6] ประวัติศาสตร์ กฎหมายไทย ศาสตราจารย์แสวง  บุญเฉลิมวิภาส, อ้างแล้ว. หน้า 121
[7] บทความเผยแพร่  200  ปี กฎหมายตราสามดวง   ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  หน้า 6 

No comments:

Post a Comment