03 August 2011

บรรณานุกรม

บรรณานุกรม
- กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม2.    ราชบัณฑิตยสถาน,ราชบัณฑิตยสถาน.
- กำธร กำประเสริฐ และ สุเมธ จานประดับ.ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก (The Thai Legal History  and Major legal system). กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2552.
- นางสาวปาจรีย์ จำเนียรกุล, และคนอื่นๆ.เอกสารเผยแพร่เนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๐๐ ปีกฎหมายตราสาม ดวง. ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา .
- ร.แลงกาต์, โรแบรต์ .ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เล่ม 1.มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ ฯ ,2526. 
- แสวง บุญเฉลิมวิภาส.ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย(The Thai Legal History).กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์        วิญญูชน,2552.
- สันท์ ท. โกมลบุตร. จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์เล่มหนึ่ง. สำนักพิมพ์ก้าวหน้า:พระนคร ,2510.
- R. Lingat, “Note sur la ŕevision des lois siamoises en 1805, ” in Journal of the Siam Society, Vol.xxiii (1929)


2.5 การขาดจากการสมรส , 2.6 ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา

                 2.5 การขาดจากการสมรส ตามพระไอยการลักษณผัวเมีย
                         1.หย่ากันดัวยความสมัครใจ
                            บทที่ 67  บัญญัติว่ามาตราหนึ่ง ภิริยาสามีมิชอบเนื้อพึงใจกัน เฃาจะหย่ากันไซ้ ตามน้ำใจเฃา เหตุว่าเฃาทังสองนั้นสิ้นบุญกันแล้ว จะจำใจให้อยู่ด้วยกันนั้นมิได้
                            บทที่ 65  บัญญัติว่า “สามีภริยาวิวาทจะหย่ากัน สามีให้หนังสือหย่าแก่ภริยา ภริยาให้หนังสือแก่สามี ต่อหน้าผู้เถ้าผู้แก่ท่านว่าฟังเอาหนังสือสามีภรรยานั้นได้ เขาสมีภริยาขาดจากผัวเมียกัน”                         
                            เป็นการหย่ากันด้วยความสมัครใจของสามีภรรยา ชายหญิงที่แต่งงานกันภายหลังจะหย่ากันด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายกฎหมายให้หย่ากันได้[1]
                                 2.ชายทิ้งร้างภรรยาไปไม่กลับมาหาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
                            บทที่  50  บัญญัติว่ามาตราหนึ่ง ผัวเมียอยู่ด้วยกัน หญิงนั้นหาความผิดมิได้ แลชายนั้นโกรธหญิงเกบเอาทรัพยสิ่งสีนตนลงจากเรือนไป แลชายนั้นมิได้ไปมาเปนช้านาน ถึง ๘ ๙ ๑๐ หรือ ๑๑ เดือน ตามระยะทางพ้นกำหนฎแล้ว จึ่งให้หญิงเอา สีนสอด ขันหมาก หรือทุนทรัพของชายนั้น ไปส่งให้แก่ชาย แลพ่อหรือแม่ ชายนั้นเปนต้นเปนประทานแล้ว ชายหรือหญิง จึ่ง ฃาดจากผัวเมียกัน
  อนึ่งถ้าชายไปด้วยสามาทโทโสมาแขก ครั้นหายโกรธแล้วมันเสียเมียมันมิได้ แลกลับมาหาเมียมันด้วยสุภาพสุจริต แลให้ทรัพยสิ่งของเยี่ยมเยิยนแต่ใน ๘ ๙ ๑๐ หรือ๑๑ เดือนก็ดีปีหนึ่งก็ดี ถ้าหญิงนั้นมิสมักรักชาย แกล้งค่อนคับกลับด่าชายเปนอันหมีดี มิให้ชายนั้นไปมาอีกเล่าไซ้ท่านว่าจะให้มันฃาดจากผัวเมียกันนั้นมิได้ ท่านว่าหญิงนั้นมันทุจริตคิดเอาใจออกนอกใจผัวมัน ถ้าหญิงมีชู้ผัวให้ปรับไหม โดยพระราชกฤษฎีกา
 บทที่ 51 วรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าชายนั้นโกรธหญิง แลลงจาเรือนหนีหญิงมิได้เก็บเอาสินเดิมและทรัพย์สิ่งของไป และชายนั้นเอามีดพร้าขวานฟันเสาเรือน หอหญิงเสีย ไปแต่ตัวไปอยู่เรือนบิดามานดา พี่น้องพ้องพันธุ์แห่งชายได้ 15 วันก็ดี 30 วันก็ดี ชายมิได้กลับมาให้หญิงนั้นส่งสินเดิมให้แก่ชายจงถ้วน ถ้าชายหาสินเดิมมิได้ ท่านว่าชายหญิงขาดจากผัวเมียกัน”
3.ล่วงเกินพ่อตาแม่ยายหรือญาติผู้ใหญ่ของหญิง
    บทที่ 61 บัญญัติว่ามาตราหนึ่ง ชายไปเลี้ยงลูกหรือหลานสาวท่าน แลมีสิ่งสีนไปด้วยเปนคำนับ ถ้าชายหยาบช้าต่อด่าหรือตี พ่อตาแม่ยายแลผู้เถ้าผู้แก่แห่งหญิง แลชายนั้นไม่ทำทานบนให้ก็ดี ไม่สะมักสมาพ่อตาหรือแม่ยายผู้เถ้าผู้แก่ก็ดี หญิงว่ามิอยู่เปนเมียชายนั้นสืบไป ให้เอาทรัพยสิ่งของทังปวงแห่งชาย ซึ่งยังบริคนอยู่นั้นส่งให้แก่ชายนั้นเสีย เหตุว่าทรัพยสิ่งสีนทังนี้เปนที่คำนึงพึงใจเสน่ห แก่ทวยราษฎรทังหลาย ท่านจึ่งว่าให้เอาส่งเสียแก่มันจงแล้ว อย่าให้เอาทรัพยสิ่งของมันไว้ให้เปนบริคนสืบไปเลยแล้วให้ขับมันเสียอย่าให้มันอยู่ด้วยลูกสาวสืบไป ถ้าแลทรัพยสิงสีนแห่งมันยังบริคนอยู่แก่หญิง หญิงมิส่งให้แกมันไซ้ ท่านว่าหญิงนั้นยังเปนเมียชายนั้นอยู่แล กล่าวลักษณผัวเมียวิวาทกัน เกินเลยพ่อตาแม่ยาย โดยสงเขบแต่เท่านี้
4. ชายคิดเอาใจออกห่างหญิง ยักย้ายสินเดิม สินสมรส ไปไว้ยังบิดามารดา ญาติพี่น้องของตน  ไปมีเมียอื่น ร้างหญิงไว้พ้นกำหนดตามกฎหมาย ให้ชายหญิงขาดจากผัวเมียกัน เหตุชายมิได้เลี้ยงหญิงโดยธรรม [2]
5.  ชายคบหาโจรผู้ร้าย ให้พ่อตาแม่ยายขับไล่ชายนั้นไปเสียให้พ้น แล้วส่งขันหมากทุนคืนแก่ชาย และบอกกล่าวแก่นายบ้าน นายอำเภอกรมการให้รับทราบไว้ ชายหญิงขาดจากการเป็นสามีภรรยา
ชายมีศรัทธาในพระศาสนาไปบวชเป็นพระภิกษุ ชายหรือหญิงขาดจากการเป็นสามีภรรยา สินเดิมสินสมรสตกเป็นของหญิงทั้งหมด เว้นแต่ชายจะได้แบ่งปันทรัพย์สินไว้ก่อน  ถ้าหญิงยังครองตัวอยู่ถ้าผัวศึกออกมาอยู่กินด้วยหญิงอีกเล่าไซ้ บุตรภรรยาแลทรัพย์สิ่งของทั้งปวงนั้นก็สิทธิ แก่ชาย เหตุว่าเรือนท่านเคยอยู่ อู่ท่านเคยนอน หมอนท่านเคยเรียง เสบียงท่านเคยกิน ถ้าหญิงทำชู้นอกใจผัวไซ้ ให้ไหมโดยพระราชกฤษฎีกา [3]
7.ชายทำผิดทัณฑ์บนของตน หญิงมีอำนาจถือว่าตนขาดจากการเป็นสามีภรรยาแต่ต้องคืนทรัพย์ให้ชายก่อน [4]
8. สามีไปค้าขายตามหัวเมือง พ้นกำหนดหนึ่งปี ชายไม่กลับมา ชายหญิงขาดจากการเป็นสามีภรรยา [5]
  
                 2.6  ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา  ตามพระไอยการลักษณผัวเมีย
1. ทองหมั้นหรือของหมั้น  คำว่า ทองหมั้นเป็นคำเดิมเพราะเวลาที่ฝ่ายชายไปหมั่นฝ่ายหญิงมักจะใช้ทองคำเป็นของหมั้น ต่อมามีการใช้ทรัพย์สินอื่นแทนจึงเปลี่ยนมาเป็นของหมั้น ทองหมั้นหรือของหมั้นนี้ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองของหญิงในเวลาที่ตกลจะยกหญิงให้เป็นภรรยาชายคล้ายกับเป็นการวางมัดจำจะซื้อสิ่งของ และฝ่ายชายรับว่าจะแต่งงานเลี้ยงดูหญิงเป็นภรรยาในกาลข้างหน้า ถ้าชายไม่มาแต่งงานกับหญิงตามกำหนดหรือไปได้หญิงอื่นเป็นภรรยาฝ่ายหญิงริบทองหมั้นหรือของหมั้นได้ [6] ดังที่บัญญัติวไว้ในกฎหมายตราสามดวง  พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่  114,68 ที่บัญญัติว่า บัญญัติว่ามาตราหนึ่ง ชายใดให้สู่ฃอลูกสาวหลานสาวท่านแลเอาขันหมากสามขันไปกล่าวถามพ่อ แม่ พี่น้องหญิงรับเอาไว้ว่าให้ลูกสาวหลานสาวแก่ท่านๆ คำนับไว้ในกำหนฎซึ่งว่ากล่าวกันไว้นั้นยังเปนเมียชาย ถ้าชายใดทำชู้สู่หญิงนั้น ท่านว่าผิดเมียท่านในขันหมาก ท่านให้เอาขันหมากตั้งไหมขันหมากกล่าวถามนั้น ๑๑ ขันๆ หมากหมั้น ๕๐ ฃัน เปน ๖๑ ฃัน ให้ตีค่าฃันหมากกล่าวถามนั้นฃันละเฟื้อง ให้ตีฃันหมากหมั้นนั้นฃันละสะหลึง เอาฃันหมากทังนั้นบวกกันเฃ้าแล้วให้ไหมทวีคูณ ยกทุนให้เจ้าฃองเหลือนั้นเปนสีนไหมกึ่งพีในกึ่ง ถ้าถึงกำหนฎซึ่งว่ากล่าวนัดหมายกันไว้นั้น ชายมิได้เอาฃันหมากใหญ่มาแต่งงานตามสันญานัด ท่านว่าหญิงนั้นมิได้เปนเมียชายเลย หญิงมีชู้ผัวอื่นหาโทษมิได้ แลฃันหมาก ๓ ฃันนั้น ชายจะคืนเอามิได้ เหตุว่าพ้นกำหนฎซึ่งว่ากล่าวกันนั้นแล้ว
 บัญญัติว่ามาตราหนึ่ง ผัวเมียอยู่ด้วยกัน ต่างคนต่างผิดใจกันจะหย่ากันไซ้ ให้หญิงส่งสีนสอดขันหมากแก่ชาย ถ้ามีลูกด้วยกันไซ้ ท่านมิให้ส่งสีนสอดขันหมากแก่ชายเลย ให้เรียกสีนเดิมทังสองข้าง สินสมรศไซ้ ให้แหวกปันเปนสามส่วนให้ชายสองส่วน ให้แก่หญิงส่วนหนึ่ง ถ้าหญิงนั้นเขามีทุนเดิมซื้อฃายจ่ายได้กำไร แลชายหาทุนเดิมมิได้ไซ้ ท่านให้ปันสีนสมรศนั้นสามส่วน ได้แก่หญิงสองส่วน ได้แก่ชายส่วนหนึ่งเพราะชายหาทุนมิได้ ชายได้ไปหารักษาจึ่งได้
2. สินสอด สินสอดเป็นทรัพย์ที่ฝ่ายชายให้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนในการที่บิดามารดา
หญิงเลี้ยดูหญิงเติบโตจนได้แต่งงานกับชาย ซึ่งอาจเทียบได้กับราคาสิ่งของที่ชายซื้อมา ในขณะที่ของมั้นนั้นเทียได้กับมัดจำ เมื่อชายหญิงหย่ากัน หญิงจะต้องคืนสินสอดให้กับฝ่ายชาย แต่มีข้อยกเว้นไม่ต้องคืนสินสอดถ้าชายหญิงมีบุตรด้วยกัน(กฎหมายตราสามดวงพระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 49,68)
                  3.  สินเดิม สินเดิมเป็นทรัพย์ที่ชายหญิงได้มาก่อนการเป็นสามีภรรยากัน คำว่าสินเดิมมี
นัยเดียวกันกับคำว่าทุน  สินเดิมจะต้องมีลักษณะที่สามารถใช้เป็นทุนได้ในการอยู่กินเป็นสามีภรรยากันอาจเป็นทรัพย์ที่ทั้งสองฝ่ายเอามากองหรือรับรองว่าให้เป็นทุนในเวลาแต่งงานกัน  ทรัพย์ที่ชายหญิงได้มาเมื่อวันมีแขกให้เอาเป็นสินเดิม(กฎหมายตราสามดวงพระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 72)
                      4.  สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่สามีภรรยาได้มาภายหลังแต่งงานอยู่กินด้วยกัน ในกฎหมายตราสามดวงพระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 72 ต่อไปนี้เป็นสินสมรส “อนึ่ง บิดามานดา พี่น้องลูกหลาน หนหญิงก็ดี ชายก็ดี แลเขาล้มตายไซ้ หนชายได้สิ่งสินมากน้อยเท่าใดก็ดี  หนหญิงได้สิ่งสินมากน้อยเท่าใดก็ดี ท่านว่าเขาผัวเมียได้บุญด้วยเขาให้เอาเป็นสินสมรส  แม้บิดามานดาญาติหญิงให้สิ่งสินแก่หญิงก็ดี แม้บิดามานดาญาติหนชายให้แก่ชายก็ดี เมื่อวันมีแขกให้เอาเป็นสินเดิม ถ้าให้มาเมื่ออยู่เป็นผัวเมียกันแล้ว ให้เอาเป็นสินสมรส และในบทที่ 64 บัญญัติไว้ว่า เมื่อผัวเมียอยู่ด้วยกันได้รับพระราชทานพัทยาไร่นา อากร ให้เอาเป็นสินสมรส
            5.   เรือนหอ เรือนหอมักจะเป็นเรือนที่ชายปลูกลงในที่ดินของหญิงหรือที่ดินของญาติ
ฝ่ายหญิง แต่ถ้าหญิงมีเรือนอยู่แล้วก็อาจมีการยกเรือนนั้นให้เป็นเรือนหอแต่คิดคิดราคาเรือนเป้ฯจำนวนเงินตามที่ตกลงกันจากชาย เรือนนี้จึงเป็นสินเดิมของฝ่ายชาย
           6.  ขันหมาก  คือข้าวของที่ฝ่ายชายนำไปมอบให้กับฝ่ายหญิง เมื่อบิดามารดาของฝ่าย
ชายไปทาบทามสู่ขอลูกสาวหลานสาวเขาเรียกกันว่า “ขันหมากกล่าวถาม” ซึ่งมี 3 ขันถ้าหากบิดามารดาหญิงตกลงยกหญิงให้แก่ชายก็จะต้องตกลงกันในเรื่องทองหมั้น สินสอด เรือนหอ กองทุน วันหมั้นและวันแต่งงาน   เมื่อถึงวันหมั้นชายก็จะนำขันหมากไปหมั้นหญิงเรียกกันว่า “ขันหมากหมั้น” ประกอบด้วยผลไม้ ขนมนมเนย ของหวาน ของคาว เหล้า ไก่ มามอบให้บิดามารดาหญิง ถ้าไม่นำของมาหมั้นและแต่งงานตามสัญญา ขันหมากกล่าวถาม 3 ขัน นั้นชายจะเอาคืนไม่ได้  (กฎหมายตราสามดวงพระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ บทที่ 114) [7]
    


[1] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ รศ.สุเมธ จานประดับ อ้างแล้ว หน้า 50
[2] กฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่  55
[3] กฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่  37
[4] กฎหมายตราสามดวง  พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่  69
[5]กฎหมายตราสามดวง  พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่  62
[6] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ รศ.สุเมธ จานประดับ อ้างแล้ว หน้า 51
[7] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ รศ.สุเมธ จานประดับ อ้างแล้ว หน้า 51,52

2.3การสมรส , 2.4 อุทลุม

2.3การสมรส การสมรสตามพระอัยการลักษณะผัวเมีย ไม่มีการจดทะเบียนสมรสดังเช่นในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ชายหญิงได้เสียกันแล้วจะเป็นภรรยากันเสมอไปก็หาไม่ การที่ชายหญิงจะมีสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ 
1.ชายหญิงทั้งสองฝ่ายได้กินอยู่หลับนอนด้วยกัน โดยมีเจตนาเป็นสามีภรรยากัน
2.บิดามารดาหรือผู้เป็นอิสระแก่หญิง(ผู้มีอำนาจปกครอง) ยินยอมยกหญิงให้เป็นภรรยาชายโดยหญิงนั้นยินยอมด้วย
การที่ชายหญิงได้เสียกันโดยไม่มีเจตนาเป็นสามีภรรยากันก็ย่อมจะไม่มีทางเป็นสามีภรรยากันได้เพราะไม่เข้าข้อหลักเกณฑ์ข้อที่ 1 แต่ความจริงหลักเกณฑ์ข้อที่ 2 ก็มีความสำคัญเท่าเทียมกันเพราะแม้ว่าชายหญิงจะกินอยู่หลับนอนกันโดยมีเจตนาเป็นสามีภรรยากันก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องที่บิดามารดาหญิงไม่ยินยอมยกหญิงให้เป็นภรรยาชายก็ดี หรือชายลักพาหญิงหนีไปก็ดี  ไม่ถือว่าเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายนอกเสียจากบิดามารดาหญิงจะจะยินยอมยกหญิงให้เป็นภรรยาชายหรือดีด้วยในภายหลัง  ชายหญิงสมัครใจอยู่ด้วยกันจนเกิดลูกชายหญิงลูกนั้นถือว่าเป็นขันหมาก เป็นเมียที่ถูกต้องตามกฎหมาย[1]   ส่วนการที่ชายหญิงลักลอบได้เสียกันนั้น เข้าใจว่าถ้าหากมีการเลี้ยงดูกันโดยเปิดเผยหรือมีบุตรด้วยกัน ก็มีสามีภรรยากันได้ [2]           
            อำนาจอิสระคืออำนาจปกครองนั้นเอง[3] หญิงเมื่อยังเป็นเด็กอยู่ก็อยู่ในความปกครองของบิดามารดา ถ้าบิดามารดาตายหญิงอาจอยู่ในความปกครองของญาติผู้ใหญ่หรือพี่จนกระทั่งแต่งงานกับชายอำนาจอิสระหรืออำนาจปกครองจึงโอนจากบิดามารดาไปยังสามี ดังกฎหมายลักษณะผัวเมีย บัญญัติว่า “บุตรีท่านบิดามานดา ยังมิได้ประกอบสามีภิริยาให้ไซ้ บิดามานดานั้นเปนอิศรแก่บุตร ถ้าชายใดพึงใจด้วยบุตรีท่านให้คำนับบิดามานดา ตามประเพณี ถ้าบิดามานดายกให้ สามีจึงเปนอิศระแก่ภิริยา”[4]
           2.4 อุทลุม การอุทลุมนี้บัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวงว่าด้วยหนี้ แต่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดามารดากับบุตรและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครัวเรือน เกี่ยวกับเรื่องกู้ยืมเงินจึงนำมากล่าวในที่นี้ด้วย 
            ในกฎหมายตราสามดวง ได้บัญญัติไว้ว่า “มาตราหนึ่ง บุตร ชายหญิง เขย สไพ้ บิดามานดา ก็ดี พ่อตาแม่ยาย พ่อผัวแม่ผัว ก็ดี กู้ยืมขายตัวแก่กันจะเปนต้นแลดอกมากน้อยเท่าใด ถ้ามีจึงให้ให้กันเหตุบิดามานดามีก็ยอให้แก่บุตรชาย หญิง ๆ ก็ย่อมแทนคุณบิดามานดา จำพวกนี้ ให้ว่ากล่าวเอาโดยปรกติมิได้เอาคดีไปเรียกร้อง ณ โรงศาล กรมใด ๆ เลย  ถ้าบุตรเขย สะไพ้ ก็ดี พ่อตา แม่ยาย พ่อผัว แม่ผัว ก็ดีเป็นคนอุทลุม ไม่รู้คุณจึงให้พิจารณาว่ากล่าวเอาแต่ต้นสิน เหตุว่าอย่าให้เคยประบัดสินผู้อื่น ดอกเบี้ยมากน้อยเท่าใดอย่าให้เอาเลย เหตุว่าเขาติดพันธกันอยู่”                                        บทบัญญัตินี้มีลักษณะเป็นการห้ามเด็ดขาดมิให้บุตรชายหญิงฟ้องบิดามารดาเรียกคืนหนี้อันเกิดจากการกู้ยืม แต่ไมได้ห้ามเด็ดขาดหากเป็นเรื่องที่บุตรเขยจะฟ้องพ่อตาแม่ยายหรือสะใภ้จะฟ้องพ่อผัวแม่ผัว แต่กฎหมายก็ถือว่าเป็นคนไม่รู้คุณคนอยู่ดี ให้ใช้แต่ต้นเงินเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยจะมีมากน้อยเพียงใดไม่ให้คิดเอาเลย                                                                                                 
             ในพระไอยการลักษณะรับฟ้องห้ามเฉพาะแต่ลูกหลานฟ้องบิดมารดาปู่ย่าตายายเท่านั้น เป็นการห้ามฟ้องทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา เหลนฟ้องทวดได้ไม่เป็นอุทลุมตามกฎหมายใหม่เหลนฟ้องทวดไม่ได้เพราะเป็นผู้สืบสายโลหิตโดยตรง  มาตรา 1562 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้”  บุพการี หมายถึง บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด ดังนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลูกหลาน เหลน จะฟ้อง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และทวดไม่ได้ [5]


[1]  กฎหมายตราสามดวง  พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 84
[2] กฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 85,86
[3] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ รศ.สุเมธ จานประดับ อ้างแล้ว หน้า 48

[4] กฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่  79
[5] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ รศ.สุเมธ จานประดับ อ้างแล้ว หน้า 49

2.2 เงื่อนไขการสมรส

     2.2  เงื่อนไขการสมรส หมายความถึง คุณสมบัติของผุ้ที่จะสมรสต้องมีหรือต้องไม่มีเพื่อให้การสมรสสมบูรณ์ตามกฏหมาย แม้ในพระอัยการลัษณะผัวเมียจะไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงว่าเป็นเงื่อนไขแห่งการสมรสทำนองเดียวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้ว บทบัญญัติดังต่อไปนี้น่าจะถือว่าเป็นเงื่อนไขแห่งการสมรสตามพระอัยการลักษณะผัวเมียได้ 
            1.หญิงต้องไม่ใช่ภรรยาของชายอื่นอยู่แล้ว จริงอยู่กฎหมายยินยอมให้ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคนในเวลาเดียวกัน แต่ไม่ได้ให้อนุญาตให้ผู้หญิงมีสามีได้หลายคนในเวลาเดียวกัน หากหญิงมีสามีอยู่ก่อนแล้วและไปได้เสียกับชายอื่นกฎหมายถือว่าชายนั้นเป็นเพียงชายชู้เท่านั้นจะต้องเอาหญิงนั้นส่งคืนสามีของเขา[1] 
            2.ชายนั้นต้องไม่เป็นพระภิกษุ กฎหมายห้ามไว้โดยชัดแจ้งไม่ให้พระภิกษุสามเณรมีภรรยาถ้าภิกษุสามเณรผิดเมียผู้อื่นถึงชำเราได้ชื่อว่าปาราชิกให้สึกออกและปรับไหมด้วย [2]    
            3.ชายหญิงต้องไม่เป็นญาติกัน ทั้งนี้เชื่อกันว่าหากชายหญิงที่เป็นญาติกัน สมรสกันจะทำให้เกิดสิ่งอัปมงคลแก่บ้านเมือง  ดังที่พระอัยการลักษณะผัวเมียบทที่ 36 กำหนดไว้ดังนี้ “พ่อแม่พี่น้องยายหลานลุงน้าหลาน ทำชู้กันไซร้ ให้นำแพลอยผู้นั้นเสียในทะเลให้นิมนต์พระสงฆ์ พราหมณาจารย์สวดมนต์ กระทำพิธีการระงับการอุบาทว์จัญไร น้ำฟ้าน้ำฝนจึงจะตกเป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลาย ฝ่ายพ่อแม่พี่น้องรู้ว่าลูกหลานทำมิชอบมิได้ว่ากล่าว ท่านละเมิดให้ลงโทษโดยโทษณุโทษ [3]
            4. หญิงหม้ายที่สามีตายจะสมรสใหม่ได้ต้องเผาศพสามีเดิมให้เรียบร้อยเสียก่อน ทั้งนี้กฎหมายบัญญัติไว้ในลักษณะที่ทำให้เห็นว่า หากหญิงยังไม่เผาศพสามีที่ตายไปแล้ว การสมรสยังไม่ขาดจากกันหากหญิงชักนำเอาชายอื่นมาหลับนอนด้วยชายนั้นมีฐานะเป็นชู้ กฎหมายให้ปรับไหมชายนั้นฐานทำชู้ภรรยาของผู้อื่น ดังที่พระอัยการลักษณะผัวเมียบทที่ 30 บัญญัติว่า “ผัวหงายตายไว้ทังโลง สภยังอยู่กับเรือนหญิงเมียนั้นน้ำตาตกแลคล้อยใจกำหนดชักเอาชายมานอน แลผีตายหงายรับกันอยู่ดั่งนั้น  ถ้าพี่นอ้งชายผู้ตายรู้เหนเอาความมาร้องฟ้อง เมื่อสวนสับขับแท้แพ้จริงไซร้ ท่านให้สานตะตร้อตรากลวยครอบศรีษะหญิงนั้นลงเพียงตา ให้ทะเวนรอบเรือนที่ผีผัวอยู่นั้นสามารอบ แล้วให้ไหมชายชู้เป็นเบี้ย 10 แสนให้แก่ญาติพิ่น้องเผาผีผู้ตาย” [4]
            5.  กำหนดอายุ พระอัยการลักษณะผัวเมียไม่ได้กำหนดอายุขั้นต่ำของชายและหญิงที่จะทำการสมรสได้ไว้  แต่ก็เป็นที่เข้าใจวฝ่ายชายต้องได้บวชเรียนเรียยร้อยแล้ว  และฝ่ายหญิงก็คงจะต้องเติบโตพอจนออกเรือนได้แล้ว จึงจะทำการสามรสกัน ในจดหมายเหตุของราชทูตลาลูแบร์ กล่าวว่า  “หญิงชายสยามอยู่ในลักษณะที่จะมีบุตรได้ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ และลางทีก่อนหน้านี้เสียอีกและลางคนก็เมื่อมีอายุล่วง 40 ปี ไปแล้วก็ยังมีบุตรได้อยู่” [5]
พระอัยการลักษณะผัวเมียบังคับใช้จนถึง พ.ศ. 2478 แต่ก่อนหน้านั้นขึ้นไป มีการตรากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) ซึ่งมาตรา 244 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำชำเราด้วยเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 12 ขวบถึงหญิงนั้นยินยอมก็ตามหรือมิได้ยินยอมก็ตาม ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปจนถึงสิบไปและให้ปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไปจนถึงห้าร้อยบาทอีกโสดหนึ่ง” จากข้อกำหนดในกฎหมายมาตราดังกล่าว จึงเป็นที่เห็นได้ว่าหลังจากที่มีกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 แล้ว หญิงจะแต่งงานได้จะต้องมีอายุเกินกว่า 12 ปี บริบูรณ์แล้ว[6]  


[1] กฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 25
[2] กฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 40,41
[3]กฎหมายตราสามดวง  พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 36
[4] กฎหมายตราสามดวง  พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 30
[5] สันท์ ท. โกมลบุตร จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์เล่มหนึ่ง  สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พระนคร 2510 หน้า 225
[6] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ รศ.สุเมธ จานประดับ อ้างแล้ว หน้า 46-47

2.สาระของกฎหมายตราสามดวงว่าด้วยครอบครัว

2.สาระของกฎหมายตราสามดวงว่าด้วยครอบครัว
                   พระไอยการลักษณผัวเมีย
                    2.1   หมวด 1 ประกาศพระราชบัญญัติ
                กฎหมายยอมรับรองการมีภรรยาหลายคนโดยแบ่งชั้นภรรยาออกเป็น 3ประการคือ 
                1. เมียกลางเมือง คือ หญิงอันบิดามารดากุมมือให้เป็น                                     เมียชาย                                                                            
                2. เมียกลางนอกคือ ชายขอหญิงมาเลี้ยงเป็นอนุภรรยา                                           หลั่นเมียหลวงลงมา
                3. เมียกลางทาษี คือ หญิงมีทุกข์ยากและชายช่วยไถ่มา 
  ดังที่กฎหมายตรามสามดวงบัญญัติไว้ดังนี้ “อันว่าลักษณเมียนั้นมี 3 ประการๆ หนึ่งอันอันบิดามานดากุมมือให้เป็นเมียชาย ได้ชื่อว่าเปนเมียกลางเมือง ประการหนึ่งชายขอหญิงมาเลี้ยงเปนอนุภรรยาหลั่นเมียหลวงลงมาได้ชื่อว่าเป็นเมียกลางนอก ประการหนึ่งหญิงโดยมีทุกขยาก ชายช่วยไถ่ได้มาเหนหมดหนักเลี้ยงเป็น ได้ชื่อว่าเมียกลางทาษี ” [1]   คำว่า เมียกลางเมือง เมียกลางนอก และเมียกลางทาษี เป็นคำในกฎหมาย คนทั่วไปมักเรียกเมียกลางเมืองว่า เมียหลวง เมียกลางนอกว่าเมียน้อย และเมียกลางทาษีว่าทาษภรรยา การที่กฎหมายกำหนดลำดับชั้นของภรรยาไว้เพื่อเหตุดังนี้
             1.เพื่อกำหนดส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของภรรยาเมื่อผู้เป็นสามีถึงแก่ความตาย
             2.เพื่อกำหนดเบี้ยปรับชายชู้   
             3.เพื่อกำหนดความรับผิดชอบของสามีทางหนี้สิน           
            ในพระอัยการลักษณะมรดกยังมีภรรยาอีก 2 ชั้น ได้แก่
             1. ภรรยาอันทรงพระกรุณาพระราชทานให้และ 2. ภรรยาอันทูลขอพระราชทานให้[2]


[1] กฎหมายตราสามดวง หมวด 1 ประกาศราชบัญญัติ
[2] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ รศ.สุเมธ จานประดับ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง หน้า 45

วิวัฒนาการกฎหมายลักษณะผัวเมียของไทยในสมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน

1.           ขั้นตอนวิวัฒนาการของกฎหมายลักษณะผัวเมียและมรดกตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

            กฎหมาย ซึ่งถือเป็นแม่บทสำคัญเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ก็คือคัมภีร์พระธรรมศาสตร์อันเป็นที่มาจากประเทศอินเดียตามความเชื่อศาสนาฮินดู โดยไทยได้รับผ่านทางมอญซึ่งนับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกับไทย  ศาสตราจารย์ ร. แลงกาต์ เชื่อว่าคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ได้เข้ามาสู่ดินแดนของไทยตั้งแต่ครั้งสุโขไทย ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 38 หรือศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร [1]
               นอกจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทที่ใช้ในการปกครองแผ่นดินแล้ว กฎหมายในสมัยโบราณยังจำแนกกฎเกณฑ์เป็นพระอัยการเฉพาะเรื่อง ซึ่งความหมายของคำว่า  “อัยการ” แตกต่างจากความหมายของอัยการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในกฎหมายไทยเดิมคำว่า “พระอัยการ” หรือ “พระไอยการ” หมายถึง กฎหมายพื้นฐานของแผ่นดิน(Basic law) ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม และหากมีปัญหาเกี่ยวกับพระอัยการ พระมหากษัตริย์ซึ่งมีหน้าที่ให้ความยุติธรรมจะต้องมีพระราชวินิจฉัย พระราชวินิจฉัยในแต่ละคดีเรียกว่า “พระราชบัญญัติ” พระราชบัญญัติแต่ละมาตราจะอ้างมูลคดีเดิมเสมอ [2]
                          กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในระยะแรกของกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ก็คือกฎหมายที่ใช้อยู่ครั้งกรุงศรีอยุยาโดยอาศัยความจำและการคัดลอกกันมาตามเอกสารที่หลงเหลือจากการถูกทำลายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีจำนวนน้อยมากตามพระราชกำหนดใหม่ข้อ  28  กล่าวว่า บทกฎหมายเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยาได้สูญหายไปมากในบทกฎหมายเก้าหรือสิบส่วนจะมีคงเหลือ
อยู่เพียงส่วนเดียวเท่านั้น ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร. ร. แลงกาต์  ได้กล่าวไว้ใน Journal of the Siam Society  ว่า อนึ่ง เราทราบจากกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งบัญญัติขึ้นในรัชกาลที่ 1 เองว่า เอกสารต้นฉบับต่างๆ ที่เคยมีอยู่ในหอหลวงครั้งกรุงเก่านั้น ได้คงเหลืออยู่สืบมาเพียงจำนวนเล็กน้อย กล่าวคือจาก 9 หรือ 10 ส่วนมีเหลือแต่เพียง 1 ส่วนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้บทกฎหมายจำนวนมากที่ใช้บังคับอยู่ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาจึงมิได้ปรากฏอยู่ในการชำระกฎหมายครั้งใหม่นี้ และยังอาจถือว่าได้ถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิงแล้วด้วย แม้ว่าเนื้อหาของบทกฎหมายนั้นอาจจะมีการนำมาบัญญัติขึ้นใหม่ในการชำระกฎหมายครั้งนี้อีกก็ตาม[3]และเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องเล่านี้ พระบาท
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงทำการวินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ โดยอาศัยมูลอำนาจอธิปไตยของพระองค์เองบ้าง อาศัยหลักฐานที่ได้จากการสืบสวนฟังคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บ้าง เช่น ผู้ที่ได้เคยอยู่ในคณะตุลาการศาลแต่ครั้งเดิม ๆ [4]  จนกระทั่งเกิดคดีขึ้นคดีหนึ่ง  และมีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา คดีที่เกิดขึ้นนี้แม้จะเป็นคดีฟ้องหย่าของชาวบ้านธรรมดา แต่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์กฎหมายก็คือ  ผลจากคดีนี้เป็นต้นเหตุให้นำมาซึ่งการชำระสะสางกฎหมายในสมัยนั้น คดีว่านี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2347  โดยเป็นคดีที่อำแดงป้อม ฟ้องหย่านายบุญศรีช่างเหล็กหลวง ทั้ง ๆ ที่ตนได้ทำชู้กับนายราชาอรรถและศาลได้พิพากษาให้หย่าได้ตามที่อำแดงป้อมฟ้อง   โดยอาศัยการพิจารณาคดีตามบทกฎหมายที่มีความว่า ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชายหย่าได้เมื่อผลของคดีเป็นเช่นนี้ นายบุญศรีจึงได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงเห็นด้วยกับฎีกาว่าคำพิพากษาของศาลนั้นขัดต่อหลักความยุติธรรม ทรงสงสัยว่าการพิจารณาพิพากษาจะถูกต้องตรงตามตัวบทกฎหมายหรือไม่ จึงมีพระบรมราชโองการให้เทียบกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ คือฉบับที่ศาลใช้กับฉบับที่หอหลวงและที่ห้องเครื่องแต่ปรากฏข้อความที่ตรงกันเมื่อเป็นดังนี้ จึงทรงมีพระราชดำริว่ากฎหมายนั้นไม่เหมาะสม อาจมีความคลาดเคลื่อนจากการคัดลอกสมควรที่จะจัดให้มีการชำระสะสางกฎหมายใหม่ เหมือนการสังคายนาพระไตรปิฎก ดังพระราชปรารภที่ว่าให้กรรมการชำระพระราชกำหนดบทพระอายการอันมีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมศาสตรไปให้ถูกถ้วนตามบาฬีและเนื้อความมิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกันได้ จัดเปนหมวดเปนเหล่าเข้าไว้ แล้วทรง อุสาหทรงชำระดังแปลงซึ่งบทอันวิประหลาดนั้นให้ชอบโดยยุติธรรมไว้[5]
                          หลังจากชำระสะสางเสร็จแล้ว  อาลักษณ์ได้เขียนด้วยหมึกลงบนสมุดข่อยรวม 6  ชุด  ชุดละ 41 เล่ม เล่ม  3  ชุดแรก จะประทับตรา  3 ดวง บนปกแต่ละเล่ม คือ ตราคชสีห์ ราชสีห์  และตราบัวแก้ว   ตราประทับดังกล่าวเป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก  สมุหกลาโหม และเจ้าพระยาคลัง ตามลำดับ  กฎหมายสามชุดนี้ ถือเป็นฉบับหลวงโดยแยกเก็บไว้ที่หอหลวง ศาลหลวง และห้องเครื่องแห่งละ 1 ชุด ส่วนอีก 3  ชุด ที่มิได้ประทับตรา เรียกว่า ฉบับรองทรง ใช้สำหรับคัดลอกและนำออกใช้เวลาพิจารณาคดี [6] ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ "กฎหมายตราสามดวง"
นั้นเอง
            กฎหมายตราสามดวง มีลักษณะเป็นการรวบรวมกฎหมายเดิมๆ ขึ้นเป็นเรื่องๆ ตามรูปเดิมแต่ละเรื่องมีข้อความไม่ติดต่อกัน เรื่องหนึ่งๆ ถือเป็นกฎหมายฉบับหนึ่ง ในคำปรารภของแต่ละเรื่องกล่าวถึงเหตุแห่งการออกกฎหมายเรื่องนั้น และคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินที่ให้ตรากฎหมายนั้นขึ้นด้วย ทั้งนี้ ตามที่ปรากฏในฉบับพิมพ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มี ๒๘ เรื่อง [7]












[1] ประวัติศาสตร์ กฎหมายไทย ศาสตราจารย์แสวง  บุญเฉลิมวิภาส สำนักพิมพ์วิญญูชน 2552 หน้า 84
[2]  ประวัติศาสตร์ กฎหมายไทย ศาสตราจารย์แสวง  บุญเฉลิมวิภาส, อ้างแล้ว. หน้า 94
[3]  R. Lingat, “Note sur la ŕevision des lois siamoises en 1805, ” in Journal of the Siam Society, Vol.xxiii
(1929), Part 1, p.23.
[4]  ศาสตราจารย์ ดร. ร. แลงกาต์ ,ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เล่ม 1,มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ ฯ พ.ศ.2526,หน้า 19
[5] ประวัติศาสตร์ กฎหมายไทย ศาสตราจารย์แสวง  บุญเฉลิมวิภาส, อ้างแล้ว. หน้า 117,118,120
[6] ประวัติศาสตร์ กฎหมายไทย ศาสตราจารย์แสวง  บุญเฉลิมวิภาส, อ้างแล้ว. หน้า 121
[7] บทความเผยแพร่  200  ปี กฎหมายตราสามดวง   ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  หน้า 6