03 August 2011

2.5 การขาดจากการสมรส , 2.6 ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา

                 2.5 การขาดจากการสมรส ตามพระไอยการลักษณผัวเมีย
                         1.หย่ากันดัวยความสมัครใจ
                            บทที่ 67  บัญญัติว่ามาตราหนึ่ง ภิริยาสามีมิชอบเนื้อพึงใจกัน เฃาจะหย่ากันไซ้ ตามน้ำใจเฃา เหตุว่าเฃาทังสองนั้นสิ้นบุญกันแล้ว จะจำใจให้อยู่ด้วยกันนั้นมิได้
                            บทที่ 65  บัญญัติว่า “สามีภริยาวิวาทจะหย่ากัน สามีให้หนังสือหย่าแก่ภริยา ภริยาให้หนังสือแก่สามี ต่อหน้าผู้เถ้าผู้แก่ท่านว่าฟังเอาหนังสือสามีภรรยานั้นได้ เขาสมีภริยาขาดจากผัวเมียกัน”                         
                            เป็นการหย่ากันด้วยความสมัครใจของสามีภรรยา ชายหญิงที่แต่งงานกันภายหลังจะหย่ากันด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายกฎหมายให้หย่ากันได้[1]
                                 2.ชายทิ้งร้างภรรยาไปไม่กลับมาหาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
                            บทที่  50  บัญญัติว่ามาตราหนึ่ง ผัวเมียอยู่ด้วยกัน หญิงนั้นหาความผิดมิได้ แลชายนั้นโกรธหญิงเกบเอาทรัพยสิ่งสีนตนลงจากเรือนไป แลชายนั้นมิได้ไปมาเปนช้านาน ถึง ๘ ๙ ๑๐ หรือ ๑๑ เดือน ตามระยะทางพ้นกำหนฎแล้ว จึ่งให้หญิงเอา สีนสอด ขันหมาก หรือทุนทรัพของชายนั้น ไปส่งให้แก่ชาย แลพ่อหรือแม่ ชายนั้นเปนต้นเปนประทานแล้ว ชายหรือหญิง จึ่ง ฃาดจากผัวเมียกัน
  อนึ่งถ้าชายไปด้วยสามาทโทโสมาแขก ครั้นหายโกรธแล้วมันเสียเมียมันมิได้ แลกลับมาหาเมียมันด้วยสุภาพสุจริต แลให้ทรัพยสิ่งของเยี่ยมเยิยนแต่ใน ๘ ๙ ๑๐ หรือ๑๑ เดือนก็ดีปีหนึ่งก็ดี ถ้าหญิงนั้นมิสมักรักชาย แกล้งค่อนคับกลับด่าชายเปนอันหมีดี มิให้ชายนั้นไปมาอีกเล่าไซ้ท่านว่าจะให้มันฃาดจากผัวเมียกันนั้นมิได้ ท่านว่าหญิงนั้นมันทุจริตคิดเอาใจออกนอกใจผัวมัน ถ้าหญิงมีชู้ผัวให้ปรับไหม โดยพระราชกฤษฎีกา
 บทที่ 51 วรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าชายนั้นโกรธหญิง แลลงจาเรือนหนีหญิงมิได้เก็บเอาสินเดิมและทรัพย์สิ่งของไป และชายนั้นเอามีดพร้าขวานฟันเสาเรือน หอหญิงเสีย ไปแต่ตัวไปอยู่เรือนบิดามานดา พี่น้องพ้องพันธุ์แห่งชายได้ 15 วันก็ดี 30 วันก็ดี ชายมิได้กลับมาให้หญิงนั้นส่งสินเดิมให้แก่ชายจงถ้วน ถ้าชายหาสินเดิมมิได้ ท่านว่าชายหญิงขาดจากผัวเมียกัน”
3.ล่วงเกินพ่อตาแม่ยายหรือญาติผู้ใหญ่ของหญิง
    บทที่ 61 บัญญัติว่ามาตราหนึ่ง ชายไปเลี้ยงลูกหรือหลานสาวท่าน แลมีสิ่งสีนไปด้วยเปนคำนับ ถ้าชายหยาบช้าต่อด่าหรือตี พ่อตาแม่ยายแลผู้เถ้าผู้แก่แห่งหญิง แลชายนั้นไม่ทำทานบนให้ก็ดี ไม่สะมักสมาพ่อตาหรือแม่ยายผู้เถ้าผู้แก่ก็ดี หญิงว่ามิอยู่เปนเมียชายนั้นสืบไป ให้เอาทรัพยสิ่งของทังปวงแห่งชาย ซึ่งยังบริคนอยู่นั้นส่งให้แก่ชายนั้นเสีย เหตุว่าทรัพยสิ่งสีนทังนี้เปนที่คำนึงพึงใจเสน่ห แก่ทวยราษฎรทังหลาย ท่านจึ่งว่าให้เอาส่งเสียแก่มันจงแล้ว อย่าให้เอาทรัพยสิ่งของมันไว้ให้เปนบริคนสืบไปเลยแล้วให้ขับมันเสียอย่าให้มันอยู่ด้วยลูกสาวสืบไป ถ้าแลทรัพยสิงสีนแห่งมันยังบริคนอยู่แก่หญิง หญิงมิส่งให้แกมันไซ้ ท่านว่าหญิงนั้นยังเปนเมียชายนั้นอยู่แล กล่าวลักษณผัวเมียวิวาทกัน เกินเลยพ่อตาแม่ยาย โดยสงเขบแต่เท่านี้
4. ชายคิดเอาใจออกห่างหญิง ยักย้ายสินเดิม สินสมรส ไปไว้ยังบิดามารดา ญาติพี่น้องของตน  ไปมีเมียอื่น ร้างหญิงไว้พ้นกำหนดตามกฎหมาย ให้ชายหญิงขาดจากผัวเมียกัน เหตุชายมิได้เลี้ยงหญิงโดยธรรม [2]
5.  ชายคบหาโจรผู้ร้าย ให้พ่อตาแม่ยายขับไล่ชายนั้นไปเสียให้พ้น แล้วส่งขันหมากทุนคืนแก่ชาย และบอกกล่าวแก่นายบ้าน นายอำเภอกรมการให้รับทราบไว้ ชายหญิงขาดจากการเป็นสามีภรรยา
ชายมีศรัทธาในพระศาสนาไปบวชเป็นพระภิกษุ ชายหรือหญิงขาดจากการเป็นสามีภรรยา สินเดิมสินสมรสตกเป็นของหญิงทั้งหมด เว้นแต่ชายจะได้แบ่งปันทรัพย์สินไว้ก่อน  ถ้าหญิงยังครองตัวอยู่ถ้าผัวศึกออกมาอยู่กินด้วยหญิงอีกเล่าไซ้ บุตรภรรยาแลทรัพย์สิ่งของทั้งปวงนั้นก็สิทธิ แก่ชาย เหตุว่าเรือนท่านเคยอยู่ อู่ท่านเคยนอน หมอนท่านเคยเรียง เสบียงท่านเคยกิน ถ้าหญิงทำชู้นอกใจผัวไซ้ ให้ไหมโดยพระราชกฤษฎีกา [3]
7.ชายทำผิดทัณฑ์บนของตน หญิงมีอำนาจถือว่าตนขาดจากการเป็นสามีภรรยาแต่ต้องคืนทรัพย์ให้ชายก่อน [4]
8. สามีไปค้าขายตามหัวเมือง พ้นกำหนดหนึ่งปี ชายไม่กลับมา ชายหญิงขาดจากการเป็นสามีภรรยา [5]
  
                 2.6  ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา  ตามพระไอยการลักษณผัวเมีย
1. ทองหมั้นหรือของหมั้น  คำว่า ทองหมั้นเป็นคำเดิมเพราะเวลาที่ฝ่ายชายไปหมั่นฝ่ายหญิงมักจะใช้ทองคำเป็นของหมั้น ต่อมามีการใช้ทรัพย์สินอื่นแทนจึงเปลี่ยนมาเป็นของหมั้น ทองหมั้นหรือของหมั้นนี้ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองของหญิงในเวลาที่ตกลจะยกหญิงให้เป็นภรรยาชายคล้ายกับเป็นการวางมัดจำจะซื้อสิ่งของ และฝ่ายชายรับว่าจะแต่งงานเลี้ยงดูหญิงเป็นภรรยาในกาลข้างหน้า ถ้าชายไม่มาแต่งงานกับหญิงตามกำหนดหรือไปได้หญิงอื่นเป็นภรรยาฝ่ายหญิงริบทองหมั้นหรือของหมั้นได้ [6] ดังที่บัญญัติวไว้ในกฎหมายตราสามดวง  พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่  114,68 ที่บัญญัติว่า บัญญัติว่ามาตราหนึ่ง ชายใดให้สู่ฃอลูกสาวหลานสาวท่านแลเอาขันหมากสามขันไปกล่าวถามพ่อ แม่ พี่น้องหญิงรับเอาไว้ว่าให้ลูกสาวหลานสาวแก่ท่านๆ คำนับไว้ในกำหนฎซึ่งว่ากล่าวกันไว้นั้นยังเปนเมียชาย ถ้าชายใดทำชู้สู่หญิงนั้น ท่านว่าผิดเมียท่านในขันหมาก ท่านให้เอาขันหมากตั้งไหมขันหมากกล่าวถามนั้น ๑๑ ขันๆ หมากหมั้น ๕๐ ฃัน เปน ๖๑ ฃัน ให้ตีค่าฃันหมากกล่าวถามนั้นฃันละเฟื้อง ให้ตีฃันหมากหมั้นนั้นฃันละสะหลึง เอาฃันหมากทังนั้นบวกกันเฃ้าแล้วให้ไหมทวีคูณ ยกทุนให้เจ้าฃองเหลือนั้นเปนสีนไหมกึ่งพีในกึ่ง ถ้าถึงกำหนฎซึ่งว่ากล่าวนัดหมายกันไว้นั้น ชายมิได้เอาฃันหมากใหญ่มาแต่งงานตามสันญานัด ท่านว่าหญิงนั้นมิได้เปนเมียชายเลย หญิงมีชู้ผัวอื่นหาโทษมิได้ แลฃันหมาก ๓ ฃันนั้น ชายจะคืนเอามิได้ เหตุว่าพ้นกำหนฎซึ่งว่ากล่าวกันนั้นแล้ว
 บัญญัติว่ามาตราหนึ่ง ผัวเมียอยู่ด้วยกัน ต่างคนต่างผิดใจกันจะหย่ากันไซ้ ให้หญิงส่งสีนสอดขันหมากแก่ชาย ถ้ามีลูกด้วยกันไซ้ ท่านมิให้ส่งสีนสอดขันหมากแก่ชายเลย ให้เรียกสีนเดิมทังสองข้าง สินสมรศไซ้ ให้แหวกปันเปนสามส่วนให้ชายสองส่วน ให้แก่หญิงส่วนหนึ่ง ถ้าหญิงนั้นเขามีทุนเดิมซื้อฃายจ่ายได้กำไร แลชายหาทุนเดิมมิได้ไซ้ ท่านให้ปันสีนสมรศนั้นสามส่วน ได้แก่หญิงสองส่วน ได้แก่ชายส่วนหนึ่งเพราะชายหาทุนมิได้ ชายได้ไปหารักษาจึ่งได้
2. สินสอด สินสอดเป็นทรัพย์ที่ฝ่ายชายให้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนในการที่บิดามารดา
หญิงเลี้ยดูหญิงเติบโตจนได้แต่งงานกับชาย ซึ่งอาจเทียบได้กับราคาสิ่งของที่ชายซื้อมา ในขณะที่ของมั้นนั้นเทียได้กับมัดจำ เมื่อชายหญิงหย่ากัน หญิงจะต้องคืนสินสอดให้กับฝ่ายชาย แต่มีข้อยกเว้นไม่ต้องคืนสินสอดถ้าชายหญิงมีบุตรด้วยกัน(กฎหมายตราสามดวงพระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 49,68)
                  3.  สินเดิม สินเดิมเป็นทรัพย์ที่ชายหญิงได้มาก่อนการเป็นสามีภรรยากัน คำว่าสินเดิมมี
นัยเดียวกันกับคำว่าทุน  สินเดิมจะต้องมีลักษณะที่สามารถใช้เป็นทุนได้ในการอยู่กินเป็นสามีภรรยากันอาจเป็นทรัพย์ที่ทั้งสองฝ่ายเอามากองหรือรับรองว่าให้เป็นทุนในเวลาแต่งงานกัน  ทรัพย์ที่ชายหญิงได้มาเมื่อวันมีแขกให้เอาเป็นสินเดิม(กฎหมายตราสามดวงพระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 72)
                      4.  สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่สามีภรรยาได้มาภายหลังแต่งงานอยู่กินด้วยกัน ในกฎหมายตราสามดวงพระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 72 ต่อไปนี้เป็นสินสมรส “อนึ่ง บิดามานดา พี่น้องลูกหลาน หนหญิงก็ดี ชายก็ดี แลเขาล้มตายไซ้ หนชายได้สิ่งสินมากน้อยเท่าใดก็ดี  หนหญิงได้สิ่งสินมากน้อยเท่าใดก็ดี ท่านว่าเขาผัวเมียได้บุญด้วยเขาให้เอาเป็นสินสมรส  แม้บิดามานดาญาติหญิงให้สิ่งสินแก่หญิงก็ดี แม้บิดามานดาญาติหนชายให้แก่ชายก็ดี เมื่อวันมีแขกให้เอาเป็นสินเดิม ถ้าให้มาเมื่ออยู่เป็นผัวเมียกันแล้ว ให้เอาเป็นสินสมรส และในบทที่ 64 บัญญัติไว้ว่า เมื่อผัวเมียอยู่ด้วยกันได้รับพระราชทานพัทยาไร่นา อากร ให้เอาเป็นสินสมรส
            5.   เรือนหอ เรือนหอมักจะเป็นเรือนที่ชายปลูกลงในที่ดินของหญิงหรือที่ดินของญาติ
ฝ่ายหญิง แต่ถ้าหญิงมีเรือนอยู่แล้วก็อาจมีการยกเรือนนั้นให้เป็นเรือนหอแต่คิดคิดราคาเรือนเป้ฯจำนวนเงินตามที่ตกลงกันจากชาย เรือนนี้จึงเป็นสินเดิมของฝ่ายชาย
           6.  ขันหมาก  คือข้าวของที่ฝ่ายชายนำไปมอบให้กับฝ่ายหญิง เมื่อบิดามารดาของฝ่าย
ชายไปทาบทามสู่ขอลูกสาวหลานสาวเขาเรียกกันว่า “ขันหมากกล่าวถาม” ซึ่งมี 3 ขันถ้าหากบิดามารดาหญิงตกลงยกหญิงให้แก่ชายก็จะต้องตกลงกันในเรื่องทองหมั้น สินสอด เรือนหอ กองทุน วันหมั้นและวันแต่งงาน   เมื่อถึงวันหมั้นชายก็จะนำขันหมากไปหมั้นหญิงเรียกกันว่า “ขันหมากหมั้น” ประกอบด้วยผลไม้ ขนมนมเนย ของหวาน ของคาว เหล้า ไก่ มามอบให้บิดามารดาหญิง ถ้าไม่นำของมาหมั้นและแต่งงานตามสัญญา ขันหมากกล่าวถาม 3 ขัน นั้นชายจะเอาคืนไม่ได้  (กฎหมายตราสามดวงพระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ บทที่ 114) [7]
    


[1] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ รศ.สุเมธ จานประดับ อ้างแล้ว หน้า 50
[2] กฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่  55
[3] กฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่  37
[4] กฎหมายตราสามดวง  พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่  69
[5]กฎหมายตราสามดวง  พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่  62
[6] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ รศ.สุเมธ จานประดับ อ้างแล้ว หน้า 51
[7] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ รศ.สุเมธ จานประดับ อ้างแล้ว หน้า 51,52

No comments:

Post a Comment