03 August 2011

2.3การสมรส , 2.4 อุทลุม

2.3การสมรส การสมรสตามพระอัยการลักษณะผัวเมีย ไม่มีการจดทะเบียนสมรสดังเช่นในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ชายหญิงได้เสียกันแล้วจะเป็นภรรยากันเสมอไปก็หาไม่ การที่ชายหญิงจะมีสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ 
1.ชายหญิงทั้งสองฝ่ายได้กินอยู่หลับนอนด้วยกัน โดยมีเจตนาเป็นสามีภรรยากัน
2.บิดามารดาหรือผู้เป็นอิสระแก่หญิง(ผู้มีอำนาจปกครอง) ยินยอมยกหญิงให้เป็นภรรยาชายโดยหญิงนั้นยินยอมด้วย
การที่ชายหญิงได้เสียกันโดยไม่มีเจตนาเป็นสามีภรรยากันก็ย่อมจะไม่มีทางเป็นสามีภรรยากันได้เพราะไม่เข้าข้อหลักเกณฑ์ข้อที่ 1 แต่ความจริงหลักเกณฑ์ข้อที่ 2 ก็มีความสำคัญเท่าเทียมกันเพราะแม้ว่าชายหญิงจะกินอยู่หลับนอนกันโดยมีเจตนาเป็นสามีภรรยากันก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องที่บิดามารดาหญิงไม่ยินยอมยกหญิงให้เป็นภรรยาชายก็ดี หรือชายลักพาหญิงหนีไปก็ดี  ไม่ถือว่าเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายนอกเสียจากบิดามารดาหญิงจะจะยินยอมยกหญิงให้เป็นภรรยาชายหรือดีด้วยในภายหลัง  ชายหญิงสมัครใจอยู่ด้วยกันจนเกิดลูกชายหญิงลูกนั้นถือว่าเป็นขันหมาก เป็นเมียที่ถูกต้องตามกฎหมาย[1]   ส่วนการที่ชายหญิงลักลอบได้เสียกันนั้น เข้าใจว่าถ้าหากมีการเลี้ยงดูกันโดยเปิดเผยหรือมีบุตรด้วยกัน ก็มีสามีภรรยากันได้ [2]           
            อำนาจอิสระคืออำนาจปกครองนั้นเอง[3] หญิงเมื่อยังเป็นเด็กอยู่ก็อยู่ในความปกครองของบิดามารดา ถ้าบิดามารดาตายหญิงอาจอยู่ในความปกครองของญาติผู้ใหญ่หรือพี่จนกระทั่งแต่งงานกับชายอำนาจอิสระหรืออำนาจปกครองจึงโอนจากบิดามารดาไปยังสามี ดังกฎหมายลักษณะผัวเมีย บัญญัติว่า “บุตรีท่านบิดามานดา ยังมิได้ประกอบสามีภิริยาให้ไซ้ บิดามานดานั้นเปนอิศรแก่บุตร ถ้าชายใดพึงใจด้วยบุตรีท่านให้คำนับบิดามานดา ตามประเพณี ถ้าบิดามานดายกให้ สามีจึงเปนอิศระแก่ภิริยา”[4]
           2.4 อุทลุม การอุทลุมนี้บัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวงว่าด้วยหนี้ แต่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดามารดากับบุตรและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครัวเรือน เกี่ยวกับเรื่องกู้ยืมเงินจึงนำมากล่าวในที่นี้ด้วย 
            ในกฎหมายตราสามดวง ได้บัญญัติไว้ว่า “มาตราหนึ่ง บุตร ชายหญิง เขย สไพ้ บิดามานดา ก็ดี พ่อตาแม่ยาย พ่อผัวแม่ผัว ก็ดี กู้ยืมขายตัวแก่กันจะเปนต้นแลดอกมากน้อยเท่าใด ถ้ามีจึงให้ให้กันเหตุบิดามานดามีก็ยอให้แก่บุตรชาย หญิง ๆ ก็ย่อมแทนคุณบิดามานดา จำพวกนี้ ให้ว่ากล่าวเอาโดยปรกติมิได้เอาคดีไปเรียกร้อง ณ โรงศาล กรมใด ๆ เลย  ถ้าบุตรเขย สะไพ้ ก็ดี พ่อตา แม่ยาย พ่อผัว แม่ผัว ก็ดีเป็นคนอุทลุม ไม่รู้คุณจึงให้พิจารณาว่ากล่าวเอาแต่ต้นสิน เหตุว่าอย่าให้เคยประบัดสินผู้อื่น ดอกเบี้ยมากน้อยเท่าใดอย่าให้เอาเลย เหตุว่าเขาติดพันธกันอยู่”                                        บทบัญญัตินี้มีลักษณะเป็นการห้ามเด็ดขาดมิให้บุตรชายหญิงฟ้องบิดามารดาเรียกคืนหนี้อันเกิดจากการกู้ยืม แต่ไมได้ห้ามเด็ดขาดหากเป็นเรื่องที่บุตรเขยจะฟ้องพ่อตาแม่ยายหรือสะใภ้จะฟ้องพ่อผัวแม่ผัว แต่กฎหมายก็ถือว่าเป็นคนไม่รู้คุณคนอยู่ดี ให้ใช้แต่ต้นเงินเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยจะมีมากน้อยเพียงใดไม่ให้คิดเอาเลย                                                                                                 
             ในพระไอยการลักษณะรับฟ้องห้ามเฉพาะแต่ลูกหลานฟ้องบิดมารดาปู่ย่าตายายเท่านั้น เป็นการห้ามฟ้องทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา เหลนฟ้องทวดได้ไม่เป็นอุทลุมตามกฎหมายใหม่เหลนฟ้องทวดไม่ได้เพราะเป็นผู้สืบสายโลหิตโดยตรง  มาตรา 1562 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้”  บุพการี หมายถึง บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด ดังนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลูกหลาน เหลน จะฟ้อง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และทวดไม่ได้ [5]


[1]  กฎหมายตราสามดวง  พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 84
[2] กฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 85,86
[3] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ รศ.สุเมธ จานประดับ อ้างแล้ว หน้า 48

[4] กฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่  79
[5] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ รศ.สุเมธ จานประดับ อ้างแล้ว หน้า 49

No comments:

Post a Comment