03 August 2011

2.2 เงื่อนไขการสมรส

     2.2  เงื่อนไขการสมรส หมายความถึง คุณสมบัติของผุ้ที่จะสมรสต้องมีหรือต้องไม่มีเพื่อให้การสมรสสมบูรณ์ตามกฏหมาย แม้ในพระอัยการลัษณะผัวเมียจะไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงว่าเป็นเงื่อนไขแห่งการสมรสทำนองเดียวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้ว บทบัญญัติดังต่อไปนี้น่าจะถือว่าเป็นเงื่อนไขแห่งการสมรสตามพระอัยการลักษณะผัวเมียได้ 
            1.หญิงต้องไม่ใช่ภรรยาของชายอื่นอยู่แล้ว จริงอยู่กฎหมายยินยอมให้ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคนในเวลาเดียวกัน แต่ไม่ได้ให้อนุญาตให้ผู้หญิงมีสามีได้หลายคนในเวลาเดียวกัน หากหญิงมีสามีอยู่ก่อนแล้วและไปได้เสียกับชายอื่นกฎหมายถือว่าชายนั้นเป็นเพียงชายชู้เท่านั้นจะต้องเอาหญิงนั้นส่งคืนสามีของเขา[1] 
            2.ชายนั้นต้องไม่เป็นพระภิกษุ กฎหมายห้ามไว้โดยชัดแจ้งไม่ให้พระภิกษุสามเณรมีภรรยาถ้าภิกษุสามเณรผิดเมียผู้อื่นถึงชำเราได้ชื่อว่าปาราชิกให้สึกออกและปรับไหมด้วย [2]    
            3.ชายหญิงต้องไม่เป็นญาติกัน ทั้งนี้เชื่อกันว่าหากชายหญิงที่เป็นญาติกัน สมรสกันจะทำให้เกิดสิ่งอัปมงคลแก่บ้านเมือง  ดังที่พระอัยการลักษณะผัวเมียบทที่ 36 กำหนดไว้ดังนี้ “พ่อแม่พี่น้องยายหลานลุงน้าหลาน ทำชู้กันไซร้ ให้นำแพลอยผู้นั้นเสียในทะเลให้นิมนต์พระสงฆ์ พราหมณาจารย์สวดมนต์ กระทำพิธีการระงับการอุบาทว์จัญไร น้ำฟ้าน้ำฝนจึงจะตกเป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลาย ฝ่ายพ่อแม่พี่น้องรู้ว่าลูกหลานทำมิชอบมิได้ว่ากล่าว ท่านละเมิดให้ลงโทษโดยโทษณุโทษ [3]
            4. หญิงหม้ายที่สามีตายจะสมรสใหม่ได้ต้องเผาศพสามีเดิมให้เรียบร้อยเสียก่อน ทั้งนี้กฎหมายบัญญัติไว้ในลักษณะที่ทำให้เห็นว่า หากหญิงยังไม่เผาศพสามีที่ตายไปแล้ว การสมรสยังไม่ขาดจากกันหากหญิงชักนำเอาชายอื่นมาหลับนอนด้วยชายนั้นมีฐานะเป็นชู้ กฎหมายให้ปรับไหมชายนั้นฐานทำชู้ภรรยาของผู้อื่น ดังที่พระอัยการลักษณะผัวเมียบทที่ 30 บัญญัติว่า “ผัวหงายตายไว้ทังโลง สภยังอยู่กับเรือนหญิงเมียนั้นน้ำตาตกแลคล้อยใจกำหนดชักเอาชายมานอน แลผีตายหงายรับกันอยู่ดั่งนั้น  ถ้าพี่นอ้งชายผู้ตายรู้เหนเอาความมาร้องฟ้อง เมื่อสวนสับขับแท้แพ้จริงไซร้ ท่านให้สานตะตร้อตรากลวยครอบศรีษะหญิงนั้นลงเพียงตา ให้ทะเวนรอบเรือนที่ผีผัวอยู่นั้นสามารอบ แล้วให้ไหมชายชู้เป็นเบี้ย 10 แสนให้แก่ญาติพิ่น้องเผาผีผู้ตาย” [4]
            5.  กำหนดอายุ พระอัยการลักษณะผัวเมียไม่ได้กำหนดอายุขั้นต่ำของชายและหญิงที่จะทำการสมรสได้ไว้  แต่ก็เป็นที่เข้าใจวฝ่ายชายต้องได้บวชเรียนเรียยร้อยแล้ว  และฝ่ายหญิงก็คงจะต้องเติบโตพอจนออกเรือนได้แล้ว จึงจะทำการสามรสกัน ในจดหมายเหตุของราชทูตลาลูแบร์ กล่าวว่า  “หญิงชายสยามอยู่ในลักษณะที่จะมีบุตรได้ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ และลางทีก่อนหน้านี้เสียอีกและลางคนก็เมื่อมีอายุล่วง 40 ปี ไปแล้วก็ยังมีบุตรได้อยู่” [5]
พระอัยการลักษณะผัวเมียบังคับใช้จนถึง พ.ศ. 2478 แต่ก่อนหน้านั้นขึ้นไป มีการตรากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) ซึ่งมาตรา 244 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำชำเราด้วยเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 12 ขวบถึงหญิงนั้นยินยอมก็ตามหรือมิได้ยินยอมก็ตาม ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปจนถึงสิบไปและให้ปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไปจนถึงห้าร้อยบาทอีกโสดหนึ่ง” จากข้อกำหนดในกฎหมายมาตราดังกล่าว จึงเป็นที่เห็นได้ว่าหลังจากที่มีกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 แล้ว หญิงจะแต่งงานได้จะต้องมีอายุเกินกว่า 12 ปี บริบูรณ์แล้ว[6]  


[1] กฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 25
[2] กฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 40,41
[3]กฎหมายตราสามดวง  พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 36
[4] กฎหมายตราสามดวง  พระไอยการลักษณะผัวเมีย บทที่ 30
[5] สันท์ ท. โกมลบุตร จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์เล่มหนึ่ง  สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พระนคร 2510 หน้า 225
[6] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ รศ.สุเมธ จานประดับ อ้างแล้ว หน้า 46-47

No comments:

Post a Comment